เปิดโผ 7 กลุ่มหุ้นรับผลกระทบจีน Lockdown

KTBST ประเมิน 7 หุ้นกลุ่มเสี่ยงรับผลกระทบหลังจีนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง มองกลุ่ม Shipping & Logistics และ Energy หนักสุด เหตุกระทบดีมานด์สินค้าจีน และแนวโน้มราคาน้ำมันลดลง ขณะที่กลุ่ม Tourism และกลุ่มหุ้นที่พึ่งพารายได้จากจีนอย่างมีนัยกระทบน้อยสุด อย่างไรก็ดี แนะนำ “ซื้อ” หุ้นที่ไม่มีความเสี่ยงจากผลกระทบล็อกดาวน์ อย่าง CKP JMT และ TIDLOR

บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.เคทีบีเอสที (KTBST) เปิดเผยว่า จากกรณีที่ประเทศจีนกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ถือเป็นจุดสูงสุดตั้งแต่มี COVID-19 ระบาดในประเทศจีน โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันล่าสุด วันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ปรับตัวลงเป็น 1,952 ราย จาก 14 มี.ค. ที่ทำสถิติสูงสุดรอบใหม่ของการระบาดของ COVID-19 ในประเทศจีนในช่วงที่ผ่านมาที่ 3,602 ราย และมี active case ที่ 16,524 ราย คิดเป็น 13% ของยอดผู้ติดเชื้อสะสมในจีน ส่งผลให้หลายเมืองในประเทศจีนเริ่มหันกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง

ทั้งนี้ KTBST ประเมินหุ้นที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ (เรียงจากมากไปน้อย) สำหรับการล็อกดาวน์ครั้งนี้ ประกอบด้วย

1.Shipping & Logistics : PSL, TTA, WICE, LEO จากความกังวลที่จะกระทบ Demand สินค้าจากจีนลดลง และการขนส่งที่ล่าช้า จากกระบวนการนาเข้าส่งออกผ่านกรมศุลกากรที่เข้มงวดมากขึ้น

2.Energy : PTTEP จากแนวโน้มราคาน้ำมันปรับตัวลง TOP, SPRC, PTTGC จากกำไรสต๊อกน้ำมันลดลง และ BANPU จากราคาถ่านหินลดลง

3.Electronics : HANA, KCE จากความกังวล supply chain disruption มีสัดส่วนรายได้จากจีน

4.IT : COM7, SIS, SYNEX ระยะสั้นได้รับผลกระทบจำกัดจากสต๊อกสินค้าที่สูง เพื่อรองรับสถานการณ์สินค้า IT ที่ตึงตัวในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ระยะยาวต้องรอดูสถานการณ์การผลิต และส่งออกสินค้าจากจีน

5.Automotive : SAT จาก supply chain disruption ในการผลิตรถยนต์

6.Tourism : ERW, MINT, CENTEL, SHR, AOT จากความกังวลนักท่องเที่ยวที่กลับมาช้ากว่าคาด

7.กลุ่มหุ้นที่พึ่งพารายได้จากจีนอย่างมีนัย : NER, STA, EKH, SPA

มีมุมมองเป็นลบกลุ่ม Shipping & Logistics – Energy

ทั้งนี้ ปัญหา supply chain disruption Shenzhen (มณฑลกวางตุ้ง) เป็นเมืองแรกที่เริ่มมาตรการ Lockdown ในวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา อย่างน้อยจนถึงวันที่ 20 มี.ค. จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย Shenzhen มีมาตรการให้หยุดสายการผลิตทั้งหมด และให้พนักงาน Work from home และหยุดการบริการขนส่งสาธารณะทั้งหมด ปัจจุบันเมือง Shenzhen มีประชากรราว 17.5 ล้านคน เป็นที่ตั้งของบริษัทเทคโนโลยีหลายแห่ง ได้แก่ Huawei, Tencent, ZTE, DJI, Foxconn โดย GDP ของ Shenzhen คิดเป็น 2.6% ของประเทศจีน ต่อมา มณฑล Jilin, เมือง Dongguan (มณฑลกวางตุ้ง) และ Langfang (อยู่ใกล้ปักกิ่ง) ได้ประกาศใช้มาตรการ lockdown ส่งผลให้ Toyota และ Volkswagen ประกาศปิดโรงงาน เนื่องจากมีโรงงานตั้งอยู่ในเมือง Changchun ในมณฑล Jilin Implication

ดังนั้น KTBST จึงมีมุมมองเป็นลบต่อหุ้นกลุ่ม Shipping & Logistics (PSL และ TTA) และกลุ่ม Energy (PTTEP และ BANPU) คาดว่าจะ “underperform” SET เนื่องจากเป็น 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากการ lockdown ของจีนอย่างเด่นชัด จากความกังวลการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จะกระทบการปริมาณการขนส่งสินค้าและการใช้น้ำมันที่ลดลง

ขณะที่หุ้นกลุ่ม Electronics และ IT Distributor แม้ว่ามีความเสี่ยงจาก supply chain disruption เนื่องจากเมือง Shenzhen เป็นที่ตั้งของผู้ผลิตชิ้นส่วน Electronics ยักษ์ใหญ่หลายบริษัท แต่ได้ปัจจัยบวกในด้านราคาหุ้นจากแรงหนุนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างประเทศที่ปรับตัวขึ้น

แนะนำซื้อ CKP-JMT-TIDLOR ไร้ความเสี่ยงล็อกดาวน์

อย่างไรก็ตาม แนะนำ “ซื้อ” หุ้นที่ไม่มีความเสี่ยงจากผลกระทบจากการ lockdown ในประเทศจีน และมี catalyst เฉพาะตัวได้แก่ CKP (ซื้อ/เป้า 5.70 บาท) จากการลงนาม MOU tariff โครงการหลวงพระบางใน 1H22E และหุ้นกลุ่ม Finance ได้แก่ JMT (ซื้อ/เป้า 80.00 บาท) จากผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง และเริ่มเห็นความชัดเจน JV AMC และ TIDLOR (ซื้อ/เป้า 50.00 บาท) จากสินเชื่อที่โตต่อเนื่อง และค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลง

ทั้งนี้ มองการระบาดในรอบนี้มีความเสี่ยงที่จะแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ omicron ที่สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ปกติ และประชากรของจีนยังไม่มีการฉีดวัคซีน mRNA ซึ่งสามารถป้องกันสายพันธุ์ Omicron ได้ดีกว่าแบบเชื้อตาย ทั้งนี้เราประเมินว่าสถานการณ์การ lockdown กรณี Base case จะอยู่ที่ประมาณ 1-2 เดือน หนุนโดยการควบคุม COVID-19 ในประเทศที่เข้มงวด และใกล้เคียงกับจำนวนวันที่จีนเคย lockdown ในอดีต อย่าง Shijiazhuang (มีจำนวนประชาชนที่สูงใกล้เคียงกับ Shenzhen) หรือ Worst case ที่ 2-3 เดือนเท่า Wuhan (Fig.12)

ประเมินว่าการ lockdown ข้างต้นจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขนส่ง logistics ที่ล่าช้า จากกระบวนการนำเข้าส่งออกผ่านกรมศุลกากรที่เข้มงวดมากขึ้น ขณะที่โรงงานจะทยอยปรับตัวผ่านการลดกำลังการผลิต หรือปรับเปลี่ยนสายการผลิตไปเมืองอื่นที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทำให้สินค้าที่ออกจำหน่ายอาจจะลดลง คล้ายกับสถานการณ์ในช่วงที่มีการ lockdown ในอดีต

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket/