แบงก์กรุงเทพมองเศรษฐกิจปีนี้โต 3-4% แนะธุรกิจเร่งปรับรับแข่งขัน

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้มีแนวโน้มฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่สัดส่วนการฉีดวัคซีนของประชากรโลกและไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น และเชื่อว่าตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกในปลายปีนี้ ทำให้มองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะยังดำเนินต่อไป แม้จะได้รับผลกระทบจากสายพันธุ์โอมิครอนบ้าง แต่ไม่มากนัก โดยคาดการณ์อัตราการเติบโตจีดีพีที่ระดับ 3-4% จากปีก่อนที่เติบโตได้ประมาณ 1% จากการขับเคลื่อนในหลายภาคธุรกิจที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับก่อนโควิด 25% การลงทุน 8% การบริโภค 5% การผลิต 5% ขณะที่ภาคที่ยังได้รับผลกระทบอยู่เป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงการบริการ-ท่องเที่ยวยังกลับมาเพียง 6% ของยอดปกติแต่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในข่วงปลายปีก่อนถึงต้นปีนี้

ทั้งนี้ จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่าภาคการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญโดยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนสูง ได้แก่ กลุ่มยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ปิโตรเคมี เป็นต้น ขณะที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 64 มียอดรายได้ 9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 80% ของยอดรายได้ก่อนสถานการณ์โควิดที่ 11.9 ล้านบาท แสดงให้ถึงการกลับมาสู่ภาวะปกติได้ของผู้ประกอบการ

“สถานการณ์ในขณะนี้เหมือนกับว่าเราเห็นแสงสว่างที่อุโมงค์ชัดขึ้นใกล้ขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่ใช่แค่เราจะทำอย่างไรให้ไปถึงทางออกอุโมงค์ แต่เมื่อออกจากอุโมงค์แล้ว จะทำอย่างไรให้สู้กับปัญหาใหญ่ที่กำลังรอเราอยู่ด้วยเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การถูกดิสรัปชันทางเทคโนโลยีที่เราอาจจะลืมไปในช่วงนี้ ดังนั้น เราต้องใช้เวลา 4-5 เดือนในช่วงที่กำลังเดินออกสู่อุโมงค์นี้ในการปรับตัวเพื่อที่เราออกจากตรงนี้ไปได้แล้วจะสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว ซึ่งหากเราทำได้ดีๆ นักท่องเที่ยวมามากขึ้นตัวเลขจีดีพีกว่า 3-4% ที่คาดไว้เป็นไปได้ว่าจะสูงกว่านี้”

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง เนื่องจากหลังวิกฤตโควิดผ่านพ้นไปจะเข้าสู่โจทย์ของการสะสางปัญหา ได้แก่ หนี้ภาครัฐที่สูงขึ้น จำเป็นต้องหารายได้มาชดเชย หนี้ครัวเรือนที่สูง และปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของภาคเอสเอ็มอีที่สูง ขณะที่ผู้ประกอบการเองไม่มีโจทย์ที่ท้าทายในเรื่องของการปรับตัวเข้าสู่ New Normal ซึ่งไม่ใช่เรื่องของโควิดเท่านั้น แต่จะต้องปรับตัวให้ธุรกิจสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การนำเอาเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ นำพาไปสู่การบริหารงาน การบริหารต้นทุนที่เปลี่ยนไป เพื่อให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นในตลาดให้ได้

ส่วนปัจจัยที่ต้องจับตาต่อไปจะเป็นกรณีการแข่งขันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ความขัดแย้งทางด้านพื้นที่ เช่น กรณีรัสเซียกับยูเครน และกรณีการถอนมาตรการสนับสนุนทางเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางอื่นๆ ภายหลังจากภาวะเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ ที่จะสร้างความผันผวนให้ตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลก รวมทั้งไทย ขณะที่ประเด็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนั้นมองว่า อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะเริ่มลดลงในครึ่งปีหลังหลังปัญหาการขาดแคลนสินค้า-วัตถุดิบค่อยๆ คลี่คลายลง

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นการถอนมาตรการทางการเงินและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ถือเป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงิน ตลาดทุน และอัตราแลกเปลี่ยน เพราะจะเป็นการดึงเงินกลับทำให้แนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะชัดเจนมากขึ้นถึงจำนวนครั้งในเดือนมีนาคมจะส่งผลต่อตลาด Money Market Fund ผู้ที่ลงทุนในตราสารหนี้หรือหุ้นกู้จะต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้กระทบกับเงินลงทุน

ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยนั้น มองว่าเรายังมีโอกาสดีๆ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกมาก โดยมองว่า S Curve ที่โดดเด่นจะอยู่ที่ ธุรกิจอาหารแปรรูป การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ รถ EV ปิโตรเคมีขั้นสูง Digital Economy และโลจิสติกส์ที่ไทยมีภูมิประเทศที่เอื้อต่อการเป็น Logistics Hub อยู่แล้ว ซึ่งภาครัฐควรต้องมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับในอนาคต

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/stockmarket